วันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2558

สวัสดีจ๊ะเพื่อนๆชาวพันทิป ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสำหรับการติดตามไล่ล่าความฝันไป    ด้วยกัน จนโหวตให้เรื่องที่นำเสนอไปก่อนหน้านี้ คือเรื่องความฝันของไบค์เกอร์หนุ่ม กับเรื่องราวของนักไวโอลิน ดีกรีเอกดนตรีจุฬาฯ ผู้เลือกบรรเลงดนตรีบนท้องถนน ให้เป็นกระทู้แนะนำทั้งสองเรื่อง และก็มีเพื่อนๆสอบถามเข้ามาหลังไมค์ถึงสิ่งที่นำเสนอไป ซึ่งนั่นเป็นเสมือนแรงผลักดันที่ทำให้คนที่มีฝัน ได้มีกำลังใจทำงานที่รักต่อไป จากทุกๆคอมเม้นต์ และทุกคะแนนโหวต ของเพื่อนๆทุกคน
    กำลังใจจากตรงนี้มันทำให้เราได้ออกไล่ล่าความฝันต่อไปอย่างไม่ลดละ แต่ก็มีบางครั้งที่ต้องยอมรับเลยว่า ต้องกลับไปโดย ไม่เจอเรื่องที่จะเขียน
    แต่จนแล้ว จนเล่าก็เสาะแสวงหาจนพบเรื่องราวความฝันที่สาม ที่ฉันรู้จักร้านหนังสือก็องดิด จากเพจหนังสือปันกันอ่าน และฉันก็ได้เดินทางไปตามแผนที่ และก็ได้พบกับร้านหนังสือนี้ ฉันก็เดินเข้าไปแนะนำตัว พร้อมกับสอบถามคนที่ดูแลร้านว่าฉันอยากจะขอสัมภาษณ์ พี่แป๊ด ที่เป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระซึ่งฉันก็พอทราบเรื่องราวพี่แป๊ด และรู้สึกว่า คนนี้ต้องไม่ธรรมดา
  บ่ายสองโมงครึ่ง ของวันอาทิตย์ฉันได้เข้าพูดคุยกับคนที่ติดปีกร้านหนังสืออิสระ ให้มีชีวิต

    เรื่องราวนี้จึงนำเสนอเพื่อให้เพื่อนๆชาวพันทิปที่รักการอ่าน รักหนังสือ รักที่จะเขียนได้มีแรงบันดาลใจ เลือกทำสิ่งๆนั้นต่อไป
เพราะฉันเชื่อเสมอว่า “หากเลือกทำสิ่งที่รัก สิ่งนั้นก็จะรักคุณเช่นกัน

รื่องราวของคนทำ"Books cafe"ผู้ติดปีกร้านหนังสือ"ก็องดิด” ให้มีชีวิต
“งานสร้างสรรค์คือการได้ทำกับมันบ่อยๆ จนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา


  ร้านหนังสืออิสระที่ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางความสนใจของนักอ่านที่มีไม่มาก จะมีสักกี่คนที่จะปลุกปั้นมันขึ้นมา หากไม่ใช่เพราะคนคนนั้น รักที่จะให้หนังสือแต่ละเล่มได้ออกเดินทาง ไปพบกับผู้อ่าน
  ร้านหนังสือ ที่มีคำว่าอยู่รอดเป็นเดิมพัน
   และร้านหนังสืออิสระอย่างร้านก็องดิด (Candide) ก็อยู่รอดมาแล้ว เพราะมีผู้ติดปีกให้ร้านหนังสือนี้มีชีวิต ด้วยการทำร้านสไตล์ "Books cafe" คนคนนั้นที่    เราจะแนะนำให้ชาวพันทิปได้รู้จัก คือ พี่แป๊ด-ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้านก็องดิด และยังเป็นบรรณาธิการ เป็นผู้ก่อตั้งอยู่ที่สำนักพิมพ์เล็กๆ ชื่อระหว่างบรรทัด

   เดิมทีต้องบอกก่อนว่า ร้านหนังสือก็องดิด (Candide) เคยตั้งอยู่แถวตึกแถวบนนถนนตะนาว ใกล้กับสี่แยกคอกวัว แต่ก็ได้ปิดตัวลงเมื่อสองปีก่อน และได้เปิดขึ้นใหม่ที่โครงการThe Jam factoryย่านท่าน้ำคลองสาน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งครั้งแรกที่ฉันได้เข้ามา ก็รู้สึกว่าที่นี่ มีบรรยากาศที่อบอุ่น เงียบสงบดี โดยเฉพาะบริเวณรอบนอกที่สามารถไปนั่งเล่น จิบกาแฟยามเช้า ฟังเสียงนก ใต้ต้นไทรขนาดใหญ่ที่อยู่หน้าร้าน ซึ่งเป็นเสมือนแลนด์มาร์คของที่นี่


   เมื่อถามถึงการบุกเบิกทำร้านหนังสือก็องดิดขึ้นมา พี่แป๊ดได้เล่าให้เราฟังว่า มีเพื่อนพี่เป็นนักเขียนที่เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ทำมาก่อน ตอนนั้นเป็นกึ่งรัานหนังสือ กึ่งออฟฟิตสำนักพิมพ์ และพี่แป๊ดก็รับปลุกปั้น ทำร้านต่อ โดยทำกับเพื่อน ที่เป็นนักเขียน สาม สี่คน เปิดร้านอยู่แถวคอกวัว ก่อนปิดตัวไปสองปีก่อน และมาเปิดใหม่ที่โครงการThe Jam factoryย่านท่าน้ำคลองสาน
   “จากกึ่งออฟฟิตสำนักพิมพ์ก็ทำให้มันเป็นร้านหนังสือเต็มที่ คือทำให้มันมีบรรยากาศของคาเฟ่ขึ้นมา แล้วก็มีการจัดเสวนาภายในร้านหนังสือ ก็มีคนดูแลสามคน มีพี่ดูแลร้านหนังสือ คุณเต็มดูแลร้านกาแฟ และคุณดวงฤทธิ์ บุนนาค เป็นคนดูแลสถานที่ เริ่มตั้งแต่ออกแบบ ตกแต่งภายในร้าน ที่ปรับมาจากโกดังเก่า”
  สำหรับที่มาของชื่อร้านก็องดิด (Candide) มีที่มาที่ไปน่าสนใจ เนื่องเพราะเพื่อนที่เป็นนักเขียนของพี่แป๊ดเป็นคนตั้งชื่อนี้ จากตัวละครเอกในวรรณกรรมฝรั่งเศษ ที่ชื่อ ก็องดิด เขียนโดย วอลแตร์
  “กิตติพล สรัคคานนท์ เขาชอบประโยคสุดท้ายในหน้าหนังสือ ก็องดิด ที่ว่า 'เราต้องทำสวนของเราต่อไป' ซึ่งสื่อความหมายถึง คนที่เชื่อมั่นในการทำงาน เขาก็เลยเอาชื่อนี้มาตั้ง”

   พลังในการทำงาน ที่เลือกเดินอยู่ในเส้นสายอาชีพจากกองบรรณาธิการ มาเป็นบรรณาธิการ และเจ้าของสำนักพิมพ์ เรื่อยมาจนกระทั่งก่อตั้งเป็นร้านหนังสืออิสระขึ้นมาได้ พี่แป๊ดไม่เคยเปลี่ยนฟิลลิงในการทำงาน เนื่องจาก ได้ทุ่มเทกับมันมาตลอด
  ย้อนกลับไปที่พี่แป๊ดได้ค้นพบโลกแห่งการอ่านหนังสือ มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ที่พี่แป๊ดยังอ่านหนังสือเองไม่ออก
“พี่ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่ยังอ่านหนังสือไม่ออกก็จะเอาเงินค่าขนม ให้พี่ชาย เพื่อแลกกับการให้เขาอ่านหนังสือให้ฟัง คงเป็นเพราะพ่อพี่ ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว จะชอบอ่านหนังสือ ก็จะมีห้องสมุดเล็กๆที่บ้าน แต่ถ้าถามว่าพี่ประทับใจหนังสือเล่มไหนมากที่สุด สำหรับคนที่รักหนังสือ รักการอ่าน เป็นคำตอบ ที่ตอบยากที่สุด”
    เสน่ห์ของการอ่านหนังสือ ที่ทำให้พี่แป๊ด หยิบจับ หนังสือมาเปิดอ่านอยู่ทุกวัน พี่แป๊ดได้บอกกับเราว่า การอ่านหนังสือทำให้เจอโลกอีกโลกหนี่ง ที่ไม่ใช่คนปัจจุบันอยู่กับเรา
  “มันเปิดกว้างทางความคิดมากขึ้น ทำให้เราได้เห็นโลกที่กว้างขึ้น นั่นแหละเสน่ห์ของการอ่าน”
เมื่อเข้าสู่ห้วงวัยนักศึกษา เข้าศึกษารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พี่แป๊ดก็แสวงหาแนวทางการอ่านเพิ่มขึ้น โดยมีครูที่สอนด้านปรัชญาการเมืองให้อ่านเรื่อง เจ้าชายน้อย
  “พอได้อ่านแนวปรัชญา ก็มีอะไรแปลกๆ ที่เปลี่ยนความคิดเราไปพอสมควร ทำให้รู้หลากหลายมากขึ้น และตอนที่อยู่มหา'ลัย พี่ก็จะเข้าห้องสมุดเป็นหลัก ใช้เวลาอยู่ห้องสมุดเยอะมาก เหมือนเราเรียนรู้ด้วยตัวเอง ทุกวันพี่จะต้องเข้าห้องสมุด และเข้าวันละหลายชั่วโมง เพราะการอ่านทำให้เรามีความสุข”
   การอ่านหนังสือ โดยเฉพาะวรรณกรรม ที่ได้ยิน ได้ฟังบอกต่อกันว่า อ่านยาก พี่แป๊ดได้บอกกับเราว่า ไม่ยากหรอก หากคิดไปก่อนว่ามันยาก มันก็จะปิดกั้นเรา
  อย่างวรรณกรรมญี่ปุ่นชื่อดัง ของมูราคามิ พี่แป๊ดก็ชื่นชอบ และอ่านงานมูราคามิตั้งแต่ยังไม่มีการแปลภาษาเป็นฉบับไทย
  "มีเพื่อนคนหนึ่ง ถือหนังสือเรื่องแกะรอย แกะดาวฉบับภาษาอังกฤษมา บอกพี่ต้องอ่านเล่มนี้ มันเป็นงานเขียนที่แปลกประหลาดมาก หญิงสาวหูสวย มีแกะ พี่ก็ลองอ่านตอนนั้นก็ผ่านมาสิบกว่าปีแล้ว อ่านแล้วก็รู้สึกตื่นเต้นดี และพอตอนหลังก็มีการแปลฉบับภาษาไทยออกมา ก็ซื้อทุกเล่ม"
  และตอนนี้พี่แป๊ดยังได้ดูแล จัดทำหนังสือในฐานะบรรณาธิการ รวมเรื่องสั้นของมูราคามิ เรื่องเส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน เมื่อถามถึงเสน่ห์ ของวรรณกรรมมูราคามิ พี่แป๊ดได้บอกว่า มูราคามิเป็นงานเขียนที่ตอนเราอ่านครั้งแรกทำให้รู้สึกว่าไม่รู้จะเจออะไรภายในเรื่อง
  “เราเดาไม่ได้ นั่นแหละงานของมูราคามิ แต่พออ่านไปหลายเรื่องก็จะรู้ได้”
   นั่นจึงถือว่าพี่แป๊ดรักในเส้นทางอาชีพงานหนังสือ ได้มุ่งมั่นทำสิ่งที่รักมาตลอดในห้วงชีวิตของการทำงานที่พี่แป๊ดทำกองบรรณาธิการนิตยสาร หลายปี และก็มาเป็นบรรณาธิการ และก็เจ้าของสำนักพิมพ์ กระทั่งเป็นเจ้าของร้านหนังสืออิสระ ที่ในวันนี้ร้านก็องดิดได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งพี่แป๊ดบอกว่า ร้านก็องดิดเป็นเหมือนคอมมูนิตี้เล็กๆที่จะเป็นแหล่งพบปะพูดคุยเรื่อง หนังสือ ดนตรี ศิลปะ มีเสวนาทุกเดือน และยังมีแกลลอรี่ให้เดินชมผลงาน

  “พี่ไม่เคยคิดจะเปลี่ยนฟิลลิงงานตัวเอง พี่ทำตั้งแต่ หนังสือ ทำนิตยสาร ทำพ็อกเกตบุ๊ก ทำสำนักพิมพ์ของตัวเอง จนมาเปิดร้านหนังสือของตัวเอง ซึ่งการทำงานด้านหนังสือสำหรับพี่แล้ว เหมือนเป็นชีวิตของพี่ ส่วนหนึ่งมันมาจากความอยากรู้ว่าวงจรหนังสือเล่มหนึ่งทำเสร็จแล้วไปไหนต่อ พอจากเป็นเล่มเสร็จ ก็ไปร้านหนังสือ คือเราอยากรู้กระบวนการของหนังสือ และก็อาจจะไม่ใช่เฉพาะคนที่ทำเกี่ยวกับหนังสือเท่านั้น พี่ว่าไม่ว่าจะอาชีพใดก็ตาม ก็ต้องทุ่มไปสุดตัว ให้กับมัน”
   พี่แป๊ดยังบอกกับเราอีกว่า งานเกี่ยวกับหนังสือ โดยเฉพาะอาชีพบรรณาธิการ ที่หลายคนใฝ่ฝันที่จะเป็น ต้องแยกให้ออกระหว่างหนังสือเล่ม กับนิตยสาร เพราะมีความต่างกัน
  “หนังสือเล่มมันอยู่นาน ใช้เวลาทำนาน บางเล่มเป็นเดือน บางเล่มเป็นปีก็มี ก็แล้วแต่ลักษณะความยากง่ายของงาน แต่ว่านิตยสารมันเป็นรายปักษ์ รายเดือน งานด้านนิตยสารเป็นสถานการณ์มากกว่า แต่ว่าพ็อกเก็ตบุ๊กมันเป็นหนังสือที่ลงลึกกว่า เป็นหลายปีเลยก็มี
คนทำนิตยสาร ต้องอัพเดทชีวิตบ่อยๆ ต้องรู้ว่ามีอะไรใหม่ๆเกิดขึ้น คือการทำบรรณาธิการนิตยสารกับหนังสือเล่ม ธรรมชาติการทำงานต่างกัน ก็แล้วแต่ลักษณะความยากง่ายของงาน"
  กว่าพี่แป๊ดจะทำร้านหนังสืออิสระได้ คือการทำงานเป็นไปตามลำดับสายงาน คือ กองบรรณาธิการ บรรณาธิการ เจ้าของร้านหนังสือ ซึ่งตอนนี้ พี่แป๊ดก็ดูแลทั้งในฐานะ บรรณาธิการ อยู่สำนักพิมพ์ระหว่างบรรทัด และก็ดูแลร้านหนังสือก็องดิด ที่พี่แป๊ดบอกกับเราว่า สิ่งที่ทำอยู่ ไม่ได้คิดว่าเป็นงาน เพราะการอ่านหนังสือมันคือชีวิตของเรา
“พี่อ่านหนังสือด้วย และพี่ก็แนะนำหนังสือในเพจ งานบรรณาธิการ คือความนิ่ง จะค่อนข้างต่างกับการเป็นเจ้าของร้านหนังสือ ที่ต้องมีการพบปะกับผู้คน แต่ถ้าช่วงไหนที่พี่ต้องทำงานบรรณาธิการ พี่อาจจะต้องทำงานที่อื่น ต้องการความสงบ และต้องอยู่กับมันเยอะๆ งานบรรณาธิการเป็นงานที่ละเอียด ต้องมีความเป็นส่วนตัวพอสมควร”

สำหรับการจัดวางหนังสือของร้านก็องดิด เมื่อเดินสำรวจดูแล้ว เน้นหนังสือวรรณกรรมไทย วรรณกรรมแปล และทฤษฏีสังคม ที่มีจัดวางหนังสือ เน้นโชว์หน้าปก มากกว่าสันหนังสือ โดยแต่ละเล่มก็มีการเดินทางมาจากสำนักพิมพ์หลากหลาย คัดสรรเฉพาะหนังสือน่าสนใจ ที่เป็นหนังสือนอกกระแส มาจากสำนักพิมพ์ อาทิไต้ฝุ่น, แซลมอน, A book, เคล็ดไทย, มติชน, กำมะหยี่ ฯ และบางคนก็เอาหนังสือทำมือมาฝากขายเองเลย ที่มีเฉพาะที่ร้านก็องดิดที่เดียว

  และการสร้างคาแรกเตอร์ร้าน Books Cafeจึงเป็นการรักษาร้านหนังสืออิสระ ให้อยู่รอด ที่พี่แป๊ดได้บอกว่า ต้องเติมเอาไว้เลย ต้องรักษาคอนเซ็ปให้ชัดเจน
"ร้านเราจะมีหนังสือแนววรรณกรรม และหนังสือพ็อกเกตบุ๊ก มีเสวนา มีดนตรี ที่เป็นคาร์เรกเตอร์ของร้าน พี่ว่าร้านหนังสือในเมืองไทย คนไม่ค่อจัดให้มีดนตรีแจ๊ส ร้านเราเป็นร้านแรกที่มี รวมถึงการจัดเสวนาของนักเขียน ที่ชวนมาพูดคุย และคนที่มา เป็นกลุ่มที่ตั้งใจเข้ามาฟังจริงๆ เป็นกลุ่มที่สนใจ เขาก็จะเดินทางมา"

  ที่นี่จึงเรียกได้ว่า เป็นแหล่งสุมหัว ของบรรดานักคิด ศิลปิน จะอ่าน จะวาด ขีดเขียนอยู่ในร้านก็องดิด จิบกาแฟ ดื่มชา เสวนาไปพร้อมกับเดินชมหนังสือ ก็สุนทรีย์ ได้บรรยากาศ จังหวะชีวิตเงียบสงบ ช้าลง

ก่อนเราจะลากลับ เพื่อขอเดินเที่ยวชมรอบร้าน เก็บรูปบรรยากาศ มาฝากเพื่อนๆชาวพันทิป พี่แป๊ดได้ฝากทิ้งท้ายเป็นข้อคิดให้แก่คนที่อยากทำงานสร้างสรรค์เอาไว้ว่า“ความคิดสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้ มันต้องมีความต่อเนื่อง คือคนจะชอบคิดว่างานสร้างสรรค์จะต้องมีอะไรแปลกๆ ครีเอทๆ ซึ่งอาจไม่ใช่เสมอไป แต่งานสร้างสรรค์ คือการได้ทำกับมันบ่อยๆ ทำจนรู้สึกว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ที่สำคัญ คือต้องมีวินัย ต้องมีสิ่งที่เรียกว่าความชำนาญเฉพาะด้าน”
และนี่คือเรื่องราวความฝันที่สาม คนทำ"Books cafe" ผู้ติดปีกร้านหนังสือ"ก็องดิด"
สำหรับช่องทางเยี่ยมชมหนังสือร้านก็องดิดที่เพจนี้จ๊ะ http://www.candidebooks.com/CandideBooks

ขอบคุณสำหรับการติดตามเรื่องราวความฝันของผู้คนนะจ๊ะ
ฝันที่สี่จะเป็นเรื่องราวของใคร พิราบ001 ออกเดินทาง แก้ไขข้อความเมื่อ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประกาศนียบัตรชนะเลิศ การบริการยอดเยี่ยม Tripadvisor.com

Sample Text

ขับเคลื่อนโดย Blogger.

VartikaAdventure Kuiburi

VartikaAdventure Kuiburi

VartKa Kuiburi

VartKa Kuiburi

Facebook Vartika Adventure Retreatic Resort

Facebook Vartika Resovilla Kuiburi

Popular Posts